มารู้จักกับเครื่องชั่งน้ำหนัก Body Composition Measurement

การชั่งน้ำหนักทำได้ง่าย ช่วยเราดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก แต่การชั่งน้ำหนักอย่างเดียวไม่ได้บ่งบอกปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อในร่างกาย หรือความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ  โดยเฉพาะถ้าเราอยู่ในระหว่างโปรแกรมลดน้ำหนัก เราจะไม่รู้เลยค่ะ ว่าน้ำหนักที่หายไปคือไขมันอย่างเดียวหรือกล้ามเนื้อสลายไปด้วย คนสองคนส่วนสูงและน้ำหนักเท่ากันแต่ทำไมรูปร่างไม่เหมือนกัน  นี่แหละค่ะเราจึงจำเป็นต้องมีการวัดส่วนประกอบของร่างกาย เพื่อที่ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้อย่างละเอียด ทราบความสมดุลและความแข็งแรงของร่างกาย ทราบปริมาณและรูปแบบการกระจายตัวของไขมัน (Fat percentage and fat distribution pattern) รวมถึงทำให้เราทราบน้ำหนักที่เหมาะสม  (Ideal body weight)

วิธีที่นิยมใช้ในการวัดส่วนประกอบของร่างกาย คือ Bioelectrical impedance analysis (BIA)  มีความแม่นยำสูง ทำได้ง่ายและรวดเร็ว หลักการของวิธีนี้คือ เครื่องจะวัดความต้านทานของกระแสไฟฟ้าของเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย  ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าระดับต่ำไม่ก่อให้เกิดอันตราย โดยที่การนำไฟฟ้าในมวลกล้ามเนื้อจะสูงกว่าในไขมัน เนื่องจากกล้ามเนื้อมีอิเล็กโทรไลต์ที่มากกว่า พูดง่ายๆคือ ไขมันเป็นฉนวนและทำให้เกิดความต้านทานไฟฟ้าสูงกว่า กล้ามเนื้อที่มีส่วนประกอบของน้ำอยู่ในเซลล์มากกว่า จึงมีความต้านทานน้อยกว่า

หลายๆคนคงเคยเห็นเครื่องนี้ตามยิม หรือโรงพยาบาลที่เราต้องป้อนข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งได้แก่ อายุ เพศ ความสูง ลงไปในเครื่อง แล้วขึ้นไปยืนบนเครื่องด้วยเท้าเปล่า และจับที่แขนของตัวเครื่อง มาดูกันนะคะว่าค่าหลักๆเหล่านี้บอกอะไรเราค่ะ

  1. น้ำหนัก (weight) น้ำหนักตัวของเราขึ้นลงได้ขึ้นหลายกิโลกรัมในวันเดียวค่ะ ขึ้นกับอาหารและปริมาณน้ำในที่เรารับเข้าและขับออก2.
  2. ดัชนีมวลกาย (Body mass index) คือค่ามาตรฐานที่คำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง BMIควรอยู่ระหว่าง 5—24.9
  3. มวลร่างกายไร้ไขมัน (Fat free mass) คือมวลทั้งหมดของร่างกายที่ไม่รวมไขมัน ซึ่งจะประกอบด้วยอวัยวะภายใน กระดูก กล้ามเนื้อ น้ำ และเนื้อเยื่อต่างๆ
  4. เปอร์เซ็นกล้ามเนื้อและมวลกล้ามเนื้อ (Muscle percentage and muscle mass) ปริมาณและร้อยละของกล้ามเนื้อโดยประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อลาย และน้ำที่อยู่ในกล้ามเนื้อ มวลกล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในการเผาผลาญพลังงาน เมื่อเรามีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น อัตราการเผาผลาญพลังงานของเราก็จะดีขึ้น
  5. เปอร์เซ็นไขมันและมวลไขมัน (Body fat percentage and fat mass) คือ ปริมาณไขมันในร่างกาย และร้อยละของไขมันเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ค่านี้จะขึ้นกับเพศและอายุ ค่าปกติเพศหญิงควรอยู่ในช่วง 25-31% ส่วนเพศชายควรอยู่ในช่วง 18-24% ซึ่งค่าเหล่านี้จะน้อยลงสำหรับนักกีฬา
  6. ปริมาณน้ำในร่างกาย (Total body water – TBW) น้ำในร่างกายช่วยลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจนและอื่นๆ รวมทั้งรักษาสมดุลอุณหภูมิ ค่ามาตรฐานในเพศชายคือ 50-65% ส่วนเพศหญิง 45-60%
  7. ระดับไขมันในช่องท้อง (Visceral fat level) คือไขมันที่สะสมตามอวัยวะภายในช่องท้อง หากมีมากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ค่ามาตรฐานควรอยู่ในระดับ 1-12 ค่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หอบหืด สมองเสื่อม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม
  8. อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย (Basal metabolic rate – BMR) คือ อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน ซึ่งเป็นอัตราการเผาผลาญพลังงานขั้นต่ำ หมายถึงว่า เป็นการเผาผลาญพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนระบบและอวัยวะต่างๆโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในแต่ละวันของเรา การรู้ BMR จะช่วยให้คุณคำนวณปริมาณแคลอรี่ที่ใช้ต่อวันเพื่อรักษาน้ำหนักปัจจุบันได้ ค่านี้จะจะแปรผันตามปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ ฮอร์โมน มวลกล้ามเนื้อ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการเคลื่อนไหวร่างกาย
  9. อัตราการเผาผลาญพลังงานเทียบเท่าอายุ (Metabolic age) คือการวัดว่าร่างกายของเรามีอัตรการเผาผลาญเทียบเท่ากับคนอายุเท่าไหร่ ค่านี้คำนวณจาก BMR ค่ะ ยิ่งตัวเลขเยอะกว่าอายุจริงเท่าไหร่ก็แปลว่าเรามีอัตราการเผาผลาญที่แย่ลง เรียกง่ายๆว่าแก่ก่อนวัยค่ะ

เมื่อทราบแล้วไปวัดส่วนประกอบของร่างกายกันนะคะ  เราจะได้วางแผนการออกกำลังกาย ประเมินสุขภาพและโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดีค่ะ

ผู้เขียน : พราวศิริ จารุไสลพงษ์