
คำถามนี้เป็นคำถามที่ถ้าถามใครๆ ก็คงมีคำตอบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ เช่น เก็บเงินซื้อรถ ซื้อบ้าน จ่ายค่าเทอม เพื่อให้เงินไม่ขาดมือ และอีกหลายๆคำตอบ แต่คำตอบจะเป็นอะไรนั้น มันไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าแผนนั้นเป็นไปได้จริงไหม ใช้เวลานานไหมกว่าจะสำเร็จ ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จได้ตามแผน
แล้วการวางแผนเป็นการรับรองผลความสำเร็จของเป้าหมายนั้นไหม การจะตอบคำถามนี้ จริงๆควรจะเปรียบเทียบกับคำถามที่ว่า แล้วถ้าไม่วางแผนละ เป้าหมายนั้นๆ จะมีโอกาสเป็นจริงได้แค่ไหน
การวางแผนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยสนับสนุนความสำเร็จนั้น ผมขอแบ่งปันประสบการณ์ทางความคิดของตัวเองให้ฟังนะครับ
หลายเดือนก่อนผมได้เริ่มออกกำลังกายอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ออกกำลังมาประมาณ 2 ปี โดยสมัยนั้นผมก็วิ่งที่หมู่บ้านที่ผมอยู่นี่แหละ ตอนเย็นหรือไม่ก็ช่วงค่ำ โดยตั้งใจจะวิ่งสะสมให้ได้ 1000 กม.ในเวลา 1 ปี ทั้งๆที่เราก็รู้ถึงความจำเป็นและสำคัญของการออกกำลังกาย แต่เราก็จะหาคำอธิบายที่ดี สมเหตุสมผลได้เสมอ เวลาที่เราไม่ได้อออกกำลัง ไม่ว่าจะฟ้าฝน เหนื่อยจากงาน พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้า ขอพักเหนื่อยบ้าง และอีกมากมาย จากที่เริ่มขาดการวิ่งสัปดาห์ละ 1 วันก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 วัน จนมารู้ตัวอีกทีก็ไม่ได้วิ่งอีกเลย แล้วมันเกิดจากอะไร
ผมวิเคราะห์แบบนี้นะครับ วันนั้นแผนการชัดเจน (specific) ว่าต้องการวิ่งสะสมให้ได้ 1000 กม.และวัด (measurement) ได้ด้วยที่ 1000 กม. แล้วเป้านี้เป็นจริง (achievement) ได้ไหม ผมตอนนั้นวิ่งได้จริงครั้งนึงก็ประมาณ 5-6 กม. เมื่อเทียบเป็นจำนวนวันที่ต้องวิ่งคือ 165-200 วัน ซึ่งคิดง่ายๆก็เท่ากับว่าต้องวิ่งวันเว้นวัน เมื่อดูศักยภาพของตัวเองรวมทั้งภาระงานรอบตัวและดูความเป็นจริง (realistic) แล้วเป็นสิ่งที่ยากพอควร ภายในระยะเวลา (time) 1 ปีที่ตั้งใจไว้
วันนี้มองกลับไปถามตัวเองว่า ทำไมต้อง 1000 กม. ก็ไม่มีคำตอบที่ดีไปกว่าเพราะว่า เป็นเลขกลมๆ ดูสวยดี ซึ่งก็ไม่แปลกใจว่าทำไมวันนั้นถึงทำไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้คิดว่าวิ่งครบแล้วจะได้อะไร (No Goal) คือมีแผนการแต่เป้าหมายไม่ชัดเจน พอทำไปถึงจุดหนึ่งก็มีโอกาสล้มเลิกสูง
แม้ว่าแผนนั้นก็ดูเป็นไปได้จริงทางทฤษฎี แต่พอเริ่มวิ่งแล้วเก็บระยะไปเรื่อยๆ พบว่ายิ่งทำก็ยิ่งห่างจากสิ่งที่ควรทำได้ และยังไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการอีก จนสุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็ไม่ได้วิ่งแล้ว
แล้วคราวนี้ละ มีอะไรที่ต่างไปจากคราวนั้น จะมาวิเคราะห์ให้ฟัง ครั้งนี้เริ่มจากการถามตัวเองทำไมถึงต้องการออกกำลังกาย ก็ได้คำตอบว่า อยากให้ร่างกายแข็งแรงและตั้งใจจะบริจาคเลือดทุก 3 เดือน นั่นไง รู้แล้วว่าทำไปทำไม พอได้เป้าหมายแล้ว จากนั้นก็หาตัววัดความสำเร็จ ที่ทำได้และเป็นไปได้ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็มาทบทวนและปรับปรุงจากสิ่งที่ผิดพลาดไป ก็เริ่มวางแผนปฏิบัติใหม่โดยกำหนดว่า วิ่งสะสมสัปดาห์ละ 1.5 ชม. 3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ 27-09-2563 สามารถทำได้อยู่ในเกณฑ์ที่พอใจ ซึ่งก็ยังต้องติดตามและวัดผลต่อไป เพราะแผนนี้เป็นแผนระยะยาวทั้งชีวิตก็ว่าได้
ถึงตรงนี้คงพอทราบแล้วใช่ไหมครับว่าปัจจัยที่เพิ่มขึ้นมาจากการวางแผนก็คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็แค่เปลี่ยนความชัดเจนนั้นเป็นแผนที่ปฏิบัติได้ และคอยติดตามความสำเร็จของแผนเป็นระยะๆ อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนก็ต้องปรับ ก็เพื่อสำเร็จตามเป้าหมาย ส่วนจะมีปัจจัยอะไรเพิ่มเติมอีก รอติดตามครั้งหน้าและหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการตั้งเป้าหมายทั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงินกันนะครับ